ผ้าไหม

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่สนใจยิ่งหากศึกษาอย่างลึกซึ่งแล้ว จะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่า จังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองในเรื่องผ้าไหม ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการทอ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของผ้าไหม การผลิตเส้นไหมน้อย และกรรมวิธีการทอ   จังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”) มาใช้ในการทอผ้า ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เรียบ นิ่ม เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย นอกจากนี้การทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ ยังมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน และเป็นกรรมวิธีที่ยาก ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า มีการทอที่เดียวใบประเทศไทย จนเป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า ใส่แล้วเย็นสบาย อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย

ลักษณะเด่นของผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์

  1. มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชา และลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล
  1. นิยมใช้ไหมน้อยในการทอซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เงางาม
  1. นิยมใช้สีธรรมชาติในการทอทำให้มีสีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ คือ สีจะออกโทนสีขรึม เช่นน้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้
  1. ฝีมือการทอจะทอแน่นมีความละเอียดอ่อนในการทอและประณีต รู้จักผสมผสานลวดลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ
  1. แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านทำเพื่อไว้ใช้เอง และสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ

การทอจะทำหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก มิได้มีการทอเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จนมีคำกล่าวทั่วไปว่า “พอหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก”

แหล่งผลิตผ้าไหมในจังหวัดสุรินทร์ จึงมีเกือบทุกหมู่บ้าน ผู้สนใจสามารถไปชมกรรมวิธีการเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมจากแหล่งต่าง ๆ ได้มากมายหลายแห่ง ลายผ้าไหมของชาวสุรินทร์ มีผู้จัดประเภทตามลักษณะการทอได้ 6 ประเภท คือ

ผ้าไหมมัดหมี่

  1. มัดหมี่โฮล หรือ จองโฮล(จองเป็นภาษาเขมร หมายถึง ผูกหรือมัด) หรือ ซัมป็วตโฮล เป็นหนึ่งในผ้าไหมมัดหมี่ของเมืองสุรินทร์ มัดหมี่แม่ลายโฮล ถือเป็นแม่ลายหลักของผ้ามัดหมี่สุรินทร์ที่มีกรรมวิธีการมัดย้อมด้วยวิธีเฉพาะ ไม่เหมือนที่ใดๆ ความโดดเด่นของการมัดย้อมแบบจองโฮล คือในการมัดย้อมแบบเดียวนี้ สามารถทอได้ 2 ลาย คือ โฮลผู้หญิง (โฮลแสร็ย) หรือผ้าโฮลธรรมดา และสามารถทอเป็นผ้าโฮลผู้ชาย (โฮลเปราะฮ์) ไว้นุ่งในงานพิธีต่างๆ

ผ้าโฮล ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าไหม ในงาน “มหกรรมผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2545 ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

2. มัดหมี่อัมปรม หรือ จองกราเป็นการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนซึ่งมีปรากฏที่จังหวัดสุรินทร์แห่งเดียวในประเทศไทย การมัดหมี่อัมปรมนี้จะทอให้ส่วนที่มัดเป็น “กราปะ” คือ จุดปะขาวของเส้นยืน มาชนกับจุดปะขาวของเส้นพุ่ง ให้เป็นเครื่องหมายบวกบนสีพื้น เช่น การทอบนพื้นสีแดงซึ่งย้อมด้วยครั่ง ก็เรียกว่า อัมปรมครั่ง การทอบนพื้นสีม่วง ก็เรียกว่า อัมปรมปะกากะออม

จังหวัดสุรินทร์ได้ตัดเสื้อผ้าไหมมัดหมี่อัมปรมให้คณะรัฐมนตรีในการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 10 –11 พฤศจิกายน 2544

  1. มัดหมี่ลายต่างๆ หรือ จองซินเป็นมัดหมี่ที่เหมือนจังหวัดอื่นๆ ทั่วๆ ไป มีหลายลาย แบ่งได้ดังนี้

3.1 มัดหมี่ลายธรรมดา เช่น ลายหมี่ข้อ หมี่คั่น หมี่โคม ซึ่งจะพบมากที่ บ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิบ้านสดอ บ้านนาโพธิ์ บ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ บ้านสวาย บ้านนาแห้ว ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์

3.2 มัดหมี่ลายกนก เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายสับปะรด ลายพระตะบอง ลายก้านแย่ง ลายพนมเปญ ลายดอกมะเขือ ส่วนมากจะพบที่ บ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ บ้านอู่โลก ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน

3.3 มัดหมี่ลายรูปสัตว์ ต้นไม้ และลายผสมอื่นๆ เช่น รูปนก ไก่ ผีเสื้อ ช้าง ม้า นกยูง ปลาหมึก พญานาค นำมาผสมกับลายต้นไม้ดอกไม้ต่างๆ หรือทอลายสัตว์เดี่ยวๆ ตลอดผืน พบมากเกือบทุกหมู่บ้าน

ผ้ายกดอกลายดอกพิกุล หรือ ปกาปกุน ผ้ายกดอกลายนี้จะย้อมเส้นด้ายยืนสีเดียวและอาจใช้สีอื่นคั่นระหว่างดอกก็ได้ การเก็บตะกอ 4 ตะกอ โดยการทอลายขัดเป็นพื้น 2 ตะกอ ส่วนอีก 2 ตะกอเป็นลวดลายการทอลายนี้จะทอทีละตะกอ จะพบที่บ้านเขวาสินรินทร์เป็นส่วนใหญ่

แหล่งผ้าไหมเมืองสุรินทร์

ที่บ้านสวาย มีผ้ามัดหมี่ลายฟ้อนซึ่งใช้เป็นผ้าแขวนผนังและทอผ้าขาวถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้     บรรพบุรุษ และเวลามีงานแต่งงานฝ่ายผู้หญิงมักจะใช้ผ้าสีขาว เป็นผ้าสมมาให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ส่วนผ้าที่ใช้นุ่งห่มมีผ้าซิ่นที่ต่อด้วยตีนซิ่นที่เป็นมัดหมี่ เรียกว่าผ้าปะโบล ผ้าสไบนิยมสีขาวทอแบบยกดอกหรือลายลูกแก้ว ซึ่งเรียกว่าโฉนดเรย ไม่นิยมสีดำแต่ก็มี ส่วนผ้ามัดหมี่มีลายโคม (กะเงาะมูย) ลายหงอนไก่แจ้ (กะเมนแจ้)ลายทะเลพับหรือลายคลื่น (ตะลีบ๊อด) และผ้าปะกากันเตรยเป็นลายทางริ้วๆ มีลายขวางๆ คล้ายดอกหญ้าเจ้าชู้ที่ติดผ้า ถ้าเป็นเส้นขวางตัดกันเรียกลายกระแซเอ หรือลายลูกอีกา

บ้านนาแห้ว ตำบลสวาย มีทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ผ้าซิ่นผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าทอไหมหัว (โสดกบาล) เป็นผ้านุ่งตาตาราง และมีผ้าลายลูกแก้ว ทอ 4 เขา เรียกตะกอบูล ห่มสไบเริก ที่เป็นผ้ายกไหมลายลูกแก้วและทอผ้ามัดหมี่ที่เรียกผ้มปูม หรือโฮลเปร๊าะ สำหรับการทอผ้ายกลายลูกแก้วนั้นเรียกว่า เหยียบกูบ มีทอตั้งแต่ 3 -8 ตะกอ
บ้านจันรม หมู่ที่ 4 ตำบลตาอ๊อง ผู้หญิงนุ่งซิ่นทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าอัมปรม ผ้าสมอเอและผ้าประกากันเตรย ผ้ามัดหมี่ที่ใช้ทั่วไป คือ ผ้าหมี่คั่นลายขอ ลายนาค ลายไก่ ลายนกยูง ผ้าตาตาราง มีผ้าอัมปรมซึ่งเป็นผ้าที่เก่าที่สุดของเขมรและนิยมใช้เป็นผ้าสมมาผู้เฒ่าเช่นเดียวกับผ้าสมอเอ อันเป็นผ้าที่ย้อมแล้วนำมาทอไม่ต้องมัดต่างจากมัดหมี่ที่ต้องมัดให้เกิดสีต่างๆตามลายที่กำหนดไว้

การคำนวณเส้นไหม

เป็นการกำหนดจำนวนลำที่จะใช้ อาจจะคู่หรือคี่ก็ได้ สมมุติว่าใช้ 25 ลำ ตามรูปกราฟ ออกแบบลายก็จะมี 25 ลำ เช่นกัน หลักที่ใช้สำหรับประมาณการ เช่น

  • 1 ลำ ใช้เส้นไหม 4 เส้น ใช้เส้นไหมทั้งหมด 100 เส้น
  • ในการทอ 1 นิ้ว ใช้เส้นไหม 50 เส้น (โดยประมาณ)
  • เส้นไหม 100 เส้น จะได้ผ้ากว้าง 2 นิ้ว (25 ลำ)
  • ผ้าถุง 1 ผืน กว้าง 72 นิ้ว ใช้เส้นไหม 3600 เส้น

ผ้าไหมมัดหมี่ ลายเม็ดข้าวสาร

error: Content is protected !!